การวิเคราะห์องค์รวมหลักธรรมอนุปุพพิกถาของพระเทพญาณมหามุนี

01:10:00 Unknown 0 Comments





การวิเคราะห์องค์รวมหลักธรรมอนุปุพพิกถาของพระเทพญาณมหามุนี
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งสร้างวัดพระธรรมกายมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี พระเทพญาณมหามุนีได้ใช้หลักธรรมอนุปุพพิกถา เป็นแม่แบบในการเทศน์สอนพุทธศาสนิกชนมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสอนเจริญสมาธิภาวนา โดยเฉพาะท่านได้อธิบายขยายความเนื้อหาในแต่ละหัวข้อธรรมได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย ในครั้งนี้เราสามารถวิเคราะห์องค์รวมคำสอนอนุปุพพิกถาของพระเทพญาณมหามุนี ได้ดังต่อไปนี้
รูปแบบการแสดงอนุปุพพิกถาของพระเทพญาณมหามุนี รูปแบบในการแสดงอนุปุพพิกถาของท่านจะแตกต่างไปจากสมัยพุทธกาล คือ ไม่ได้เป็นไปตามลำดับหัวข้อธรรมอย่างสมบูรณ์เพราะกลุ่มผู้ฟังนั้นมีเป็นจำนวนมาก มีทั้งผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดอย่างสม่ำเสมอ และบุคคลใหม่ที่เพิ่งจะเดินทางเข้ามาศึกษาธรรมะในวัด และบุคคลที่รับฟังผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมช่อง DMC ซึ่งถ้าหากว่ารูปแบบการแสดงธรรมทุกครั้งเป็นแบบเรียงไปตามลำดับทุกครั้ง อาจมีผลทำให้ความสนใจในการฟังธรรมลดน้อยลงไปเพราะเกิดความซ้ำในแต่ละครั้ง เนื่องจากกลุ่มผู้ฟังเป็นกลุ่มเดิม ซึ่งสามารถรับฟังธรรมะจากสื่อทางวิทยุโทรทัศน์ดาวเทียมที่มีความก้าวล้ำในยุคปัจจุบัน เมื่อการแสดงธรรมแก่บุคคลกลุ่มเดิมเกิดขึ้น รูปแบบการแสดงธรรมจึงต้องเปลี่ยนไปไม่สามารถเรียงไปตามลำดับหัวข้อธรรมทุกครั้ง แม้กระนั้นก็ตามรูปแบบการสอนของท่านยังคงครอบคลุมหัวข้อธรรมในอนุปุพพิกถา นอกจากนี้ลำดับหัวข้อการแสดงธรรมอาจถูกหยิบยกขึ้นมาแสดง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่กำลังฟังธรรมอยู่ในขณะนั้น เช่น ในโครงการตักบาตรพระสองล้านรูปได้เน้นหัวข้อ “ทานกถา” แต่สำหรับโครงการบวชพระหนึ่งแสนรูปได้เน้นหัวข้อ “เนกขัมมานิสังสกถา” เป็นต้น
พระเทพญาณมหามุนีจะอธิบายหัวข้อธรรมแต่ละหมวด ขยายความเป็นภาษาปัจจุบัน จนทำให้พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และพุทธศาสนิกชน เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งการทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งมีกุศลศรัทธาเข้ามาอุปสมบทและช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทุกรูปแบบต่าง ๆ ตามที่แต่     ละคนมีความถนัด
นอกจากพระเทพญาณมหามุนีจะสอนด้านเนื้อหาของธรรมะที่เรียกว่า ภาคปริยัติแล้ว ท่านยังได้นำเนื้อหาสู่ภาคปฏิบัติ ด้วยการดำริให้มีโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ซึ่งเป็นผลทำให้พุทธศาสนิกชนสามารถประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมในอนุปุพพิกถาได้อย่างเป็นอัศจรรย์ 
การตอบโจทย์สังคมให้คลายข้อสงสัยด้วยอนุปุพพิกถา    
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้อนุปุพพิกถาเป็นหลักธรรมที่ยกขึ้นมาแสดงบ่อยครั้งในช่วงที่พระพุทธองค์ทรงเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา เพราะอนุปุพพิกถาเป็นหลักธรรมที่สามารถคลายข้อสงสัยในเรื่องกรรม การเวียนว่ายตายเกิด และการเข้าถึงโมกษะหรือความหลุดพ้น เป็นคำสอนที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ที่ยังไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นความรู้ใหม่ที่แตกต่างจากความเชื่อดั้งเดิมที่เป็นของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นเหตุทำให้บุคคลเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและขอแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาผู้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หรือทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา
อนุปุพพิกถา จึงเป็นพระธรรมเทศนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไปตามลำดับ สำหรับขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังที่ยังไม่มีศรัทธาหรือศรัทธาอ่อน เพื่อให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจจ์ เป็นพระธรรมเทศนาที่สามารถแก้ปัญหาที่บุคคลทั้งหลายยังคลางแคลงใจในเรื่องกรรม การเวียนว่ายตายเกิด และความหลุดพ้น สามารถตอบโจทย์ของสังคมอินเดียได้ในขณะนั้น
พระเทพญาณมหามุนีได้นำอนุปุพพิกถามาเป็นหลักธรรมที่ใช้ในการเผยแผ่ธรรมะให้ แก่พุทธศาสนิกชนตั้งแต่เริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย ด้วยคำสอนที่เข้าใจง่ายสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถตอบปัญหาคลายความสงสัยโดยเฉพาะแก่นิสิตนักศึกษาจากการอบรมธรรมทายาท เมื่อปีพุทธศักราช 2515 จนเมื่อผ่านการอบรมแล้ว ธรรมทายาทได้กลับไปมหาวิทยาลัยที่ตัวเองศึกษาอยู่ ไปช่วยกันสร้างชมรมพุทธศาสตร์ขึ้นมา และชักชวนเพื่อน ๆ นิสิตนักศึกษาให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม จำนวนคนเข้าวัดก็มีมากขึ้น ล้วนเป็นคนหนุ่มคนสาว ซึ่งดูแปลกตาจากที่พบเห็นโดยทั่วไปเหมือนพลิกวงการศาสนาที่คนรุ่นใหม่หันมาสร้างความดีเข้าวัดปฏิบัติธรรม จนวัดพระธรรมกายค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นด้วยกำลังของคนหนุ่มสาวที่รักในการประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งเมื่อจบการศึกษาบางท่านเห็นโทษภัยของกาม จากการครองเรือน จึงทยอยบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุจำพรรษาเป็นระดับหลักพันรูป สำหรับท่านหญิงก็มาเป็นอุบาสิกาช่วยงานวัด  เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อมา จำนวนสาธุชนที่เข้าวัดก็เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยเป็นหลักพัน เป็นหมื่น และเป็นแสน ด้วยหลักธรรมอนุปุพพิกถาควบคู่กับโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งสามารถให้ความรู้ความเข้าใจ คลายข้อสงสัยในเรื่องโลกและชีวิต ความสำคัญของการเสียสละ ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งสามารถละจากกาม  มาประพฤติปฏิบัติธรรมและบวชบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง บำเพ็ญกุศลธรรมผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะบวชในช่วงสั้นหรือช่วงยาวตามโอกาสอำนวยของแต่ละบุคคล
 

ความสัมพันธ์ต่อเนื่องตามลำดับของหลักธรรมอนุปุพพิกถา อนุปุพพิกถาเป็นหลักธรรมที่มีความลุ่มลึกไปโดยลำดับ จากธรรมะเบื้องต้นที่สามารถปฏิบัติง่ายที่สุดจนไปถึงธรรมะที่มีความละเอียดลึกซึ้งเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จิตของผู้ฟังย่อมบริสุทธิ์สะอาดขึ้นจากเดิมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหมาะสมที่จะรองรับอริยสัจ 4 เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
จากคำสอนของพระเทพญาณมหามุนีที่สามารถนำหลักธรรมอนุปุพพิกถามาใช้ในการขัดเกลาพุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัยให้ดื่มด่ำในรสพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาขึ้นมารองรับกับหลักธรรมต่าง ๆ จนส่งผลทำให้ผู้ที่มาเข้ารับการปฏิบัติสามารถปฏิบัติตนให้สมกับเป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง เราสามารถวิเคราะห์ลักษณะความสัมพันธ์ต่อเนื่องตามลำดับของหลักธรรมอนุปุพพิกถา ที่พระเทพญาณมหามุนีได้สอนไว้ ดังต่อไปนี้
1. คำสอนอนุปุพพิกถาเบื้องต้นสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติใหม่ สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ยังไม่มีพื้นฐานความรู้ทางพระพุทธศาสนา เช่นเรื่องการสร้างความดี ละเว้นจากความชั่ว กลั่นจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ โทษของกาม ผลดีของการออกบวช หรือเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ สรรพสัตว์ทั้งหลายที่จะต้องบรรลุมรรคผลและไปสู่พระนิพพาน พระเทพญาณมหามุนีจะสอนให้พุทธศาสนิกชนเหล่านั้นฝึกการเจริญสมาธิภาวนาเป็นอันดับแรกก่อน เพื่อให้จิตสงบ ใจละเอียดผ่องใสพร้อมที่จะรองรับคำสอน จากนั้นท่านจะสอนหลักธรรมเบื้องต้นเพื่อให้ชาวพุทธเข้าใจในคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น เริ่มจากหลักธรรมที่ปฏิบัติง่ายที่สุดแล้วค่อย ๆ พัฒนาไปสู่หลักธรรมที่ต้องใช้ความพยายามในการฝึกฝนอบรมตัวเองมากยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้
1.1 ทานกถา การให้ เป็นการสละความตระหนี่ออกจากใจ เพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเอง ภพชาติที่ตนต้องไปเกิดใหม่จะได้ไม่ลำบาก มีความสุขตั้งแต่ความสุขบนสวรรค์เรื่อยไป ซึ่งคำสอนเรื่องทานนี้เปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกที่จะก้าวไปสู่สวรรค์หรือนิพพาน เพราะเป็นความดีที่ทำได้ง่ายที่สุดกว่าคุณธรรมข้ออื่น ๆ สามารถปฏิบัติได้ทุกเพศทุกวัย และเมื่อให้ทานไปแล้ว จิตจะผ่องใส ไม่ขุ่นมัว สามารถจะป้องกันบาปอกุศลที่เกิดขึ้นในใจ พระเทพญาณมหามุนีได้ให้ข้อคิดแก่พุทธศาสนิกชนเริ่มสร้างทานกุศลตั้งแต่ที่บ้านด้วยการทำหน้าบ้านของตนให้เป็นโรงทาน น้อมถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรที่เดินบิณฑบาตในยามเช้า ไปถวายภัตตาหารที่วัดเป็นสังฆทาน ดูแลอุปัฏฐากพระภิกษุสงฆ์ในวัดที่อยู่ใกล้บ้าน ตลอดจนการเป็นเจ้าของวัดด้วยการปัดกวาดเช็ดถู ร่วมสร้างเสนาสนะอารามในวัดนั้น ๆ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการช่วยเหลืออนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ ผู้ประสบภัยต่าง ๆ เช่นภัยน้ำท่วม ลมหนาว แม้แต่ภัยจากผู้ก่อการร้ายดังโครงการต่าง ๆ ที่เราศึกษามา ท่านให้มุมมองเรื่องทานในระดับนี้ว่า
“ทานเป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์สมบัติ ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ในการสร้างบารมีของเราต่อไปในภพเบื้องหน้า ดังนั้นทานบารมีจึงขาดไม่ได้ ต้องสร้างกันทุกชาติ การที่ชาตินี้ เราเห็นบางคนรวย แต่บางคนจน นั่นไม่ใช่เป็นพระประสงค์ของใคร แต่เป็นเพราะว่า เขาทำกันมาเอง จึงมามีชีวิตอย่างนั้น จนเพราะตระหนี่”
                     (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 19 สิงหาคม 2550)
พระเทพญาณมหามุนีให้ความรู้เรื่องทานในระดับเบื้องต้นนี้ว่า จะเป็นเหตุปัจจัยทำให้บุคคลทั้งหลายประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยผลบุญที่เกิดจากการให้ทาน ซึ่งท่านได้ขยายความคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสอนไว้ นำมาอธิบายให้ชาวพุทธผู้เริ่มปฏิบัติธรรมใหม่เกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าของการให้ มีความรู้สึกที่อยากจะให้ ตัดความตระหนี่หวงแหนเสียดายทรัพย์ออกไป เป็นการสั่งสมบุญเพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ลำบากในภพชาติต่อ ๆ ไป คือละโลกไปก็มีสวรรค์ สุคติภูมิเป็นที่ไป ลงมาเกิดใหม่ก็มีทรัพย์บังเกิดขึ้นให้สร้างบุญกุศลต่อไปอีกอย่างสะดวกสบาย อันเป็นเทคนิคของการสอนเพื่อดึงคนเข้ามาสู่พุทธศาสนาในระดับเบื้องต้น จะได้ก้าวไปสู่การฝึกฝนคุณธรรมในระดับต่อไป เช่น เรื่องศีล เป็นต้น
1.2 ศีลกถา การรักษาศีล พระเทพญาณมหามุนีได้หล่อหลอมพุทธศาสนิกชนให้มีคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกาที่ดีในทางพระพุทธศาสนา ด้วยการรักษาศีลหรือรักษาความเป็นปกติของมนุษย์เอาไว้ ความบริสุทธิ์ทางกาย วาจา ก็จะเกิดขึ้นจนบริสุทธิ์เข้าไปอยู่ในใจ ทุกพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในวัดจะมีการสมาทานรักษาศีล 5 และเจริญสมาธิภาวนาก่อน เพื่อให้การทำทานของสาธุชนทั้งหลายเป็นมหาทานบารมี ท่านจะตอกย้ำว่าศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่พึ่ง เป็นที่ตั้งแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง บุคคลใดชำระศีลให้บริสุทธิ์แล้ว จิตจะร่าเริงแจ่มใส และเป็นท่าหยั่งลงสู่มหาสมุทรคือ นิพพาน ท่านสอนเรื่องศีลจนทำให้สาธุชนเกิดกำลังใจในการรักษา เพราะจะเป็นเหตุทำให้เมื่อละโลกไปแล้วก็จะได้ไปสู่สุคติภูมิ ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ได้รูปร่างหน้าตาและสุขภาพที่ดี ทำให้มีโอกาสทำความดีบำเพ็ญกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ตอกย้ำด้วยโครงการที่จะทำให้ศีลบริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นบ้านกัลยาณมิตร เด็กดีวีสตาร์ และโดยเฉพาะโครงการเทเหล้าเผาบุหรี่ ซึ่งท่านมองว่าเรื่องสุราเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการผิดศีลทุกข้อตามมา มีรายละเอียดดังนี้
“ถ้ายังให้มีแอลกอฮอล์สำหรับดื่ม มีบุหรี่สำหรับสูบกันอยู่อย่างนี้ ศีล 5 ก็ตั้งขึ้นได้ยาก เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะไปทำลายสติซึ่งเป็นต้นแหล่งที่จะรักษาศีล เพราะฉะนั้นเมื่อขาดสติแล้วก็จะทำให้พลาดพลั้งไปผิดศีลข้ออื่น ๆ ได้ เมื่อศีล 5 ไม่มี สันติสุขหรือสันติภาพที่แท้จริงของโลกก็ไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้”
                (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 3 พฤศจิกายน 2546)
คำสอนเรื่องศีลนี้ พระเทพญาณมหามุนีจะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรมควบคู่ไปด้วย การจำลองภาพของมหานรก อุสสทนรก ยมโลก หรือเรื่องราวของผู้ประสบความทุกข์ยากลำบาก ซึ่งเป็นผลมาจากการประพฤติผิดพลาดทางกาย วาจา ใจ ควบคู่ไปกับมีโครงการเผยแผ่ขึ้นมารองรับ เมื่อโครงการเทเหล้าเผาบุหรี่เกิดขึ้นมาได้ส่งผลทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวหักดิบตัดใจจากสิ่งเสพติดอบายมุขต่าง ๆ ทำให้แต่ละครอบครัวเกิดความสุข เพราะสมาชิกในครอบครัวสามารถรักษาศีลได้ ความรักความอบอุ่นก็เกิดขึ้น และเมื่อสามารถรักษาศีลห้าได้ครบถ้วนบริบูรณ์ การเลื่อนขึ้นเป็นการรักษาศีลแปดก็ทำได้ไม่ยาก ในที่สุดก็สามารถปฏิบัติได้เป็นปกติ เป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องคอยระวังเหมือนตอนรักษาใหม่ ๆ
1.3 สัคคกถา สวรรค์...ชีวิตความเป็นสุขอันเป็นทิพย์ สัคคกถานี้ พระเทพญาณมหามุนีเน้นให้รู้ว่า สวรรค์เป็นสุคติภพที่ได้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่อาศัยเพียงความปรารถนาแล้วจะได้ ไม่ใช่เอาแต่คาดหวังสวรรค์แล้วจะได้ไปสู่สวรรค์ แต่ต้องอาศัยการปฏิบัติให้ถึงพร้อม เป็นอรรถกถาที่อธิบายถึงผลที่แตกต่างจากการผิดศีล ดังที่เคยจำลองภาพอบายภูมิมาให้ศึกษาก่อนหน้านี้ แต่สวรรค์นี้เป็นการอธิบายผลดีที่เกิดขึ้นจากการให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา ซึ่งพระเทพญาณมหามุนีได้พรรณนาถึงชีวิตหลังความตาย ภาคสุคติภูมิ ภพภูมิใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากเคลื่อนจากภพเก่า ตั้งแต่การมารับของบริวาร ลักษณะเทวรถ ภาพรวมสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ลักษณะอันเป็นทิพย์ตั้งแต่วิมาน สวน สระ เครื่องประดับ ชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมใหม่ที่แตกต่างจากสังคมมนุษย์ มีรายละเอียดดังนี้
“ บุญที่เรากระทำเป็นนิจ เป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ. . .เมื่อเราจะละโลกก็จะไปอย่างผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ เหมือนเดินออกจากกระต๊อบก้าวไปสู่ปราสาทราชวัง ทิ้งภาชนะดินคือสังขารร่างกายนี้ เปลี่ยนไปเป็นภาชนะทองคำ เข้าไปเป็นสหายแห่งชาวสวรรค์. . .มีวิมานเงินวิมานทองวิมานแก้วที่ใสยิ่งกว่าเพชร มีบริวารสมบัติก็มาก ทิพยสมบัติก็เหลือเฟือ สวยสดงดงามทีเดียว”
                       (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 12 พฤษภาคม 2545)
คำพรรณนาเรื่องสัคคกถานี้เป็นการให้ความรู้ คือเชื่อว่าบุญมีจริง บาปมีจริง นรกสวรรค์มีจริง ตอกย้ำให้ชาวพุทธเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ชีวิตหลังจากความตายมีอยู่จริง ไม่ใช่สิ้นสุดเพียงแค่เชิงตะกอน หรือสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจเท่านั้น แต่มีภพภูมิที่มีอยู่จริง และรองรับผลแห่งกรรมดี กรรมชั่วที่บุคคลได้ทำไว้ตอนเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดความเห็นชอบ เห็นถูกต้องระดับโลกียะ
1.4 กามาทีนวกถา โทษของกาม เมื่อพระเทพญาณมหามุนีได้ให้ความรู้พื้นฐานเรื่องทาน ศีล สวรรค์แล้ว ลำดับขั้นต่อไปท่านก็จะยกจิตของพุทธศาสนิกให้สูงขึ้น เพื่อก้าวสู่การปฏิบัติธรรมที่เข้มข้นขึ้นด้วยการสอนให้ชาวพุทธเห็นโทษของกาม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุกาม ความยินดีในวัตถุสิ่งของที่ประณีต เสียงที่ไพเราะ ข้าวของเครื่องใช้ที่เกินความจำเป็น ตลอดจนกิเลสกามที่เป็นเหตุทำให้เกิดความเศร้าหมอง เร่าร้อน ประสบความทุกข์มาก ซึ่งมีสุขเพียงน้อยนิด ไม่สามารถทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลนิพพาน โดยท่านจะอุปมาเปรียบโทษของกามไว้ดังนี้
“ กามเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง หากพลาดท่าตกลงไปในบ่วงกาม ก็จะมีความเร่าร้อนตลอดเวลาเหมือนตกลงหลุมถ่านเพลิง เพราะถูกราคะความกำหนัดยินดีในกามแผดเผา ต้องแสวงหาอยู่เรื่อย ๆ ร้อนรน อยู่ไม่เป็นสุข”            
    (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 6 กุมภาพันธ์ 2548)             
โทษของกามนี้ พระเทพญาณมหามุนีมุ่งเน้นให้ชาวพุทธปล่อยวางจากความกำหนัดยินดีในกามคุณทั้งหลาย เพื่อสามารถคลายจากความรักความผูกพันในคน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์ต่อการรู้เท่าทันสภาวะ ซึ่งท่านสอนว่าสามารถทำได้อย่างง่าย ๆ เริ่มจากวันพระ ให้รักษาศีลแปด แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็นวันรับ วันพระ และวันส่ง คือก่อนและหลังวันพระอีกอย่างละวัน หรืออาจมาวัด ไปปฏิบัติธรรมพิเศษตามสถานที่ต่าง ๆ ก็จะส่งผลทำให้ใจสามารถปล่อยวางจากกามคุณทั้งหลายโดยง่ายยิ่งขึ้น
1.5 เนกขัมมานิสังสกถา อานิสงส์จากการออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อพระเทพญาณมหามุนีได้หล่อหลอมให้พุทธศาสนิกชนเห็นภัยจากกามคุณ ภัยจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏแล้ ท่านจะพรรณนาถึงอานิสงส์แห่งการออกบวช  บำเพ็ญเนกขัมมบารมี เพื่อสามารถปลีกตนให้พ้นจากเครื่องพันธนาการของชีวิต มีชีวิตที่สามารถสร้างความดีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการทำมาหากิน สามารถทำพระนิพพานให้แจ้งง่ายกว่าชีวิตตอนเป็นฆราวาส   ดังโอวาทที่ท่านให้ไว้ว่า
“ขอยืนยันว่า. . . ชีวิตพระเป็นชีวิตที่ดีที่สุด. . . เหมาะสมกับชาวโลกที่สุดเลย เพราะเป็นชีวิตที่ปลอดกังวล มีเวลาสำหรับแสวงหาความรู้ภายในที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย มีไว้สำหรับแสวงหาความสุขที่มีมากกว่าความสุขด้วยลาภ ยศ สรรเสริญอย่างที่มนุษย์เข้าใจ
                        (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 7 กุมภาพันธ์ 2544)
ในปัจจุบันจำนวนพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นต้นแบบของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้ลดจำนวนลงไปอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเสื่อมของศีลธรรมตามมา ดังนั้นพระเทพญาณมหามุนีมีความปรารถนาจะให้ศีลธรรมกลับคืนมา เปลี่ยนวัดร้างให้กลับเป็นวัดรุ่ง การหล่อหลอมให้กำลังใจแก่พุทธศาสนิกชนสละชีวิตทางโลกที่สุขสบาย มาบวชประพฤติพรหมจรรย์จึงเกิดขึ้น  ซึ่งท่านได้ค่อย ๆ สร้างกำลังใจการบวชขึ้นมาผ่านการอบรมเทศน์สอน ผ่านโครงการบวชพระธรรมทายาทตั้งแต่ช่วงเริ่มสร้างวัด อบรมนักศึกษาให้มาบวชระยะสั้นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน   เมื่อจบแล้วมองเห็นความเป็นจริงของชีวิต ก็ได้ทยอยอุปสมบทเช่นเดียวกับสาธุชนที่เข้าวัดเป็นประจำ หลายท่านมีกำลังใจอันแน่วแน่สามารถออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมีได้ในระยะยาวจนถึงทุกวันนี้ สำหรับอุบาสิกานั้นแม้ร่างกายจะเป็นหญิง แต่พระเทพญาณมหามุนีได้มีดำริให้จัดโครงการบวชอุบาสิกาแก้ว หล่อหลอมให้อุบาสิการักในการประพฤติพรหมจรรย์ ให้มีอุปนิสัยรักการบวช ห่างเหินจากข้าศึกแห่งการกุศลและพรหมจรรย์  เพื่อจะได้ก้าวจากหน่อเนื้อแห่งพระรัตนตรัย สู่ความเป็นเหล่ากอของสมณะ  และเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยในภายภาคเบื้องหน้า
2. คำสอนอนุปุพพิกถาระดับลึกสำหรับผู้มีพื้นฐานการปฏิบัติแล้วภายหลังจากที่พระเทพญาณมหามุนีได้ให้ความรู้แก่พุทธศาสนิกชนเกี่ยวกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต เป้าหมายของพระพุทธศาสนาที่จะต้องทำพระนิพพานให้แจ้งตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อบรมทั้งภาคปริยัติควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องอีกทั้งมีโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาขึ้นมารองรับแล้ว พระเทพญาณมหามุนีจะสอนอนุปุพพิกถาในระดับลึกให้แก่ผู้มีพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมที่ทราบถึงโทษภัยของกาม และผ่านการฝึกตัวด้านการประพฤติพรหมจรรย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี เพื่อสามารถฝึกฝนอบรมตัวเองให้มากยิ่งขึ้น จะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเข้าวัด การออกบวช ซึ่งคำสอนอนุปุพพิกถาในระดับนี้ จะทำให้พุทธศาสนิกชนมองเห็นเป้าหมายของการทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตามแบบอย่างที่ดีของพระบรมโพธิสัตว์ โดยไม่เห็นแก่ความอยากเด่นอยากดังหรือปรารถนาสิ่งใด ๆ แต่ให้เป็นไปเพื่อคุณธรรมภายในที่สูงมากยิ่งขึ้น เพื่อผลการปฏิบัติธรรมที่ดีก้าวหน้ามากขึ้น เป็นการทำพระนิพพานให้แจ้งตามเป้าหมายของพระพุทธศาสนา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
2.1 ทานกถา การให้ การแบ่งปัน พระเทพญาณมหามุนีจะหล่อหลอมพุทธศาสนิกชนที่เป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนสาธุชนที่ได้เข้าวัดปฏิบัติธรรมกันมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอซึ่งไม่ใช่ผู้เริ่มปฏิบัติใหม่ อีกทั้งได้เข้าใจโทษของกาม และอานิสงส์แห่งการประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ให้พุทธศาสนิกชนเหล่านี้มีหัวใจที่รักการให้ทานตามแบบอย่างพระบรมโพธิสัตว์อีกระดับหนึ่ง คือ จะเป็นการให้ทานที่เป็นไปเพื่อการฝึกตัว  ขจัดความเป็นตัวตนของตนออกไป เป็นการเสียสละที่แท้จริงโดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นทานที่ไม่มุ่งหวังสวรรค์ หรือภพภูมิอื่นใด นอกเหนือจากเป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากสังสารวัฏและเข้าสู่พระนิพพาน คำสอนเรื่องการให้ทานระดับนี้เป็นการให้ทานโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ชีวิตก็พร้อมที่สละให้แก่พระพุทธศาสนาได้ มีรายละเอียดคำสอนดังนี้
“เมื่อเราให้ทีละนิด ๆ ทุกวัน จนติดเป็นนิสัยแล้ว ก็จะสั่งสมความรู้สึกอยากให้เพิ่มขึ้น หัวใจจะขยายกว้าง เราจะให้ได้มากขึ้นอย่างสุขใจ ไม่หวงแหน ไม่เสียดายทรัพย์ และก็ให้เพิ่มขึ้น ๆ จนกระทั่งปลื้มปีติใจ และเข้าใจว่า ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมี ท่านเป็นผู้ให้ได้ สละทรัพย์ กระทั่งสละอวัยวะ สละชีวิต ปรารถนาเพียงอย่างเดียวคือพระโพธิญาณจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเข้าใจท่านเลยเมื่อเราได้ให้อย่างท่านอย่างนี้”
                      (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 13 มิถุนายน 2551)
การให้ทานในระดับนี้ ผู้ให้พร้อมที่จะสามารถเสียสละความสุขส่วนตัวได้ทุกอย่าง    ไม่ว่าจะเป็นการสละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิต เป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานเพียงอย่างเดียว ไม่มุ่งหวังสวรรค์ หรือความสุขส่วนตัวใด ๆ แต่กลับจะเกิดความรู้สึกเป็นสุขเมื่อเห็นพระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง ผู้รับทานมีความสุขสดชื่นหรือพ้นจากความทุกข์ยากนั้น ๆ  ด้วยการแบ่งปัน ความเสียสละที่ตนได้ทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันลงไป ซึ่งปรากฏมีตัวอย่างที่ดีในช่วงเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ พุทธศักราช 2554 ที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนที่ผ่านการฝึกตนมาแล้วจากคำสอนอนุปุพพิกถาทั้ง 5 ประการ จะทุ่มเทกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจในการช่วยปกป้องพระพุทธศาสนา และชาวบ้านที่ประสบปัญหาอุทกภัยใหญ่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน  แม้บ้านตนเองน้ำกำลังจะท่วมก็ไม่สนใจ เดินทางมาตักทราย  แบกหาม ตากแดด ลุยน้ำอย่างสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มุ่งหน้าแก้ไขไม่ให้ภัยเกิดแก่พระศาสนา และเข้าช่วยป้องกันวัดวาอารามต่าง ๆ ที่ประสบอุทกภัย ตลอดจนผู้ประสบภัยจนกระทั่งสามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์ดังกล่าวเข้าสู่ภาวะปกติ 
2.2 ศีลกถา การรักษาศีล สำหรับคำสอนเรื่องการรักษาศีลระดับลึกนี้ พระเทพญาณมหามุนีให้ข้อคิดว่าต้องรักษาศีลแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ให้กาย วาจา ใจสะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งศีลที่รักษาอย่างสะอาดบริสุทธิ์นี้เองจะทำให้สามารถประคองใจให้เข้าสู่ความสงบภายในได้โดยง่าย เพราะใจจะไม่กระเพื่อม กระวนกระวายใจจากความขุ่นมัวเศร้าหมองของจิตเนื่องจากได้ประพฤติผิดจากวินัยทางธรรม ศีลที่บริสุทธิ์จะเป็นอุปการะต่อการฝึกจิตให้สงบนิ่งตั้งมั่น และเมื่อใจสงบนิ่งตั้งมั่นมากเพียงใด ก็จะยิ่งส่งผลทำให้เกิดความบริสุทธิ์จากการรักษาศีลมากขึ้น เพราะการกระทำทางกาย วาจา ใจมาจากความคิดที่บริสุทธิ์ผ่องใสด้วยอานุภาพแห่งสมาธิที่ได้ฝึกไว้ดีแล้ว ซึ่งท่านได้ให้หลักการรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ คือ
“ หยุดนิ่งต่อไปก็จะเห็นดวงศีล ที่ชัดใส สว่างยิ่งขึ้นอยู่ภายใน ยิ่งเราหยุดนิ่งได้สนิทมาก ดวงศีลในกลางตัวก็จะชัดมาก เป็น “ศีลเห็น” คือ เห็นเป็นดวงใสยิ่งกว่าเพชร ใสบริสุทธิ์ดุจดวงตะวันแก้ว สว่างยิ่งกว่าพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ยิ่งสว่างความบริสุทธิ์ก็ยิ่งมากขึ้น และยิ่งบริสุทธิ์ยิ่งมีความสุขเพิ่มมากขึ้น พอเราหยุดใจเบา ๆ สบาย ๆ ในกลางดวงศีล แนบแน่นจนกระทั่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ดวงศีลที่เราเข้าถึงนั้นก็จะเป็นอธิศีล เป็นศีลที่ยิ่งกว่าศีลอื่นใด เพราะเป็นศีลที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ. . .”                         
                (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 24 ธันวาคม 2541)
ศีลกถาในระดับลึกนี้เป็นอธิศีลเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นศีลที่จะต้องอาศัยความบริสุทธิ์จากการรักษากาย วาจา ที่สะอาดบริสุทธิ์เป็นที่ตั้งก่อน เพราะศีลเป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิด เป็นพื้นฐานแห่งสมาธิ สมาธิก็จะเป็นพื้นฐานทำให้เกิดปัญญาในการพิจารณาอริยสัจ 4 เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นลำดับถัดไป
2.3 สัคคกถา เมื่อผู้ผ่านการฝึกอนุปุพพิกถามาในระดับหนึ่งแล้ว มีความเข้าใจในการฝึกฝนอบรมตัวเองให้มีคุณธรรมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล  อีกทั้งเข้าใจถึงความเป็นจริงของโลกและชีวิต ตลอดจนเป้าหมายของพระพุทธศาสนาคือการหลุดพ้นจากสังสารวัฏแล้ว พระเทพญาณมหามุนีจะอธิบายขยายความสัคคกถาว่า สวรรค์นั้นแม้จะเป็นภพภูมิที่มีความสุขสบาย สมบูรณ์ด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ อธิปไตย อันเป็นทิพย์ มีความสุขสบายยิ่งกว่าพระเจ้าจักรพรรดิเพียงใด สวรรค์ก็คือกามภพ แม้จะมีอารมณ์อันเลิศเพียงไรก็ยังเป็นสิ่งที่มีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไป เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์เหมือนกันคือยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ เป็นสุขเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วคราวไม่ยั่งยืนถาวร เพราะยังไม่พ้นจากสังสารวัฏ ดังตัวอย่างตอนหนึ่งของโอวาทมีใจความว่า
“ สวรรค์ชั้นต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะไปยึดติดกันนะ เพราะเป็นเพียงสถานที่พักในระหว่างการเดินทางไกลมุ่งไปสู่อายตนนิพพานเท่านั้น ซึ่งเป้าหมายของเราไม่ใช่ทำบุญเพื่อจะให้ไปสวรรค์ แต่เราจะมุ่งไปสู่อายตนนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขโน่น เพราะสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น เหล่านี้แม้จะวิเศษเพียงไร ก็ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ยังไม่พ้นจากการบังคับบัญชาของพญามาร เมื่อถึงคราวหมดบุญก็ต้องจุติลงมาเกิดอีก”             

           (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 19 พฤษภาคม 2546)
พระเทพญาณมหามุนีให้ข้อคิดว่า สวรรค์ต่าง ๆ ตลอดจนรูปพรหม อรูปพรหม เป็นเหมือนคุกขนาดใหญ่ที่ขังสรรพสัตว์ทั้งหลายเอาไว้ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ชาตินี้ต้องไปเกิดเป็นอย่างนั้น อีกชาติไปเกิดในภพภูมิโน้นตามแต่วิบากกรรมที่สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ทำมา แต่ในขณะนี้ที่เรากำลังเร่งสร้างความดีฝึกฝนอบรมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวเราอยู่ แม้เราจะยังไม่สามารถสลัดพ้นจากคุกขนาดใหญ่นี้ อย่างน้อยเราก็ได้ชื่อว่าเป็นเชลยผู้รู้ คือรู้วิธีที่จะออกจากคุกคือภพสามว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ไม่ได้ลุ่มหลงเพลิดเพลินไปกับโลกหรือภพภูมิใดไปวัน หากแต่ทุกอนุวินาทีเราเพียรสร้างคุณงามความดีตามแบบอย่างพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย เพื่อบ่มบารมีให้แก่รอบจนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยม สามารถทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน กำจัดกิเลสอาสวะทั้งหลาย ยกตนและสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่พระนิพพาน
ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนาไม่สนับสนุนให้มุ่งหากามสุข ไม่ให้เอากามสุขเป็นจุดหมายของชีวิต สวรรค์จึงยังมิใช่จุดหมายของชีวิต การทำความดีไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล และภาวนา พระพุทธศาสนาไม่สอนให้มุ่งหาผลตอบแทนเป็นกามสุข เช่น โชคลาภ ยศ เกียรติ อำนาจ บริวาร และการเกิดในสวรรค์เป็นต้น แต่สอนให้มุ่งหยุดการสั่งสมก่อตัวของตัณหาเชื้อทุกข์ ทำให้ผู้ทำความดีนั้นประสบสุขประณีตลึกซึ้งจากภายใน
2.4 กามาทีนวกถา การเห็นโทษของกาม สำหรับเนื้อหาของกามาทีนวกถาในระดับลึกนี้ พระเทพญาณมหามุนีจะตอกย้ำให้พุทธศาสนิกชนเห็นโทษภัยในกามคุณมากยิ่งขึ้น โดยให้พิจารณาปล่อยวาง คลายความยึดมั่นถือมั่น  คลายความผูกพันในคน สัตว์ สิ่งของ หรือทุกสิ่งเพื่อจะได้รวมใจหยุดนิ่งเข้าสู่ความสงบภายในได้อย่างรวดเร็ว  ดังโอวาทที่ท่านให้ไว้ว่า
“ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ปล่อยวาง โดยพิจารณา ให้เห็นโทษ ว่าสิ่งเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วมันก็เสื่อมสลายไป. . . ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ที่เราจะยึดมั่น ถือมั่นเป็นสาระ เป็นแก่นสาร . . .เป็นเพียงเครื่องอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น อย่าคิดว่ามันเป็นจริงเป็นจัง ยึดมั่นถือมั่น. . .จนมองไม่เห็นหนทางพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ท่านก็ให้ปลดปล่อยให้วางในโลกามิสเหล่านี้ ร่างกายนี้ก็เช่นเดียวกัน ถูกความชรารุกรานกันไปอยู่เงียบๆ และก็นำไปสู่ความตาย เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้. . .พิจารณาให้เห็นอย่างนี้ แล้วให้ยินดีในพระนิพพาน ให้เห็นว่าพระนิพพานเป็นที่ดับแห่งความเมา ดับกระหาย เป็นที่หมดตัณหา หมดความทะยานอยาก มีแต่สุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือเลย ให้พอใจต่อพระนิพพาน”
              (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 20 พฤษภาคม 2527)
พระเทพญาณมหามุนีได้ให้ข้อคิดว่า การปฏิบัติธรรมนั้นต้องอาศัยจิตที่ปล่อยวางจากอารมณ์ภายนอก คือ คน สัตว์ สิ่งของ ลาภ สักการะ สรรเสริญซึ่งเป็นของหยาบ เป็นเรื่องภายนอกที่ไม่เป็นแก่นสาร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นข้าศึกแห่งการกุศลและพรหมจรรย์ เรื่องนี้ต้องตัดให้ขาด ต้องไม่ติดอะไรเลยจริง ๆ ติดนิดเดียวก็ไม่ได้ ต้องปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วใจจึงจะละเอียด จะนิ่ง นุ่มนวล แล้วจะเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมภายใน บรรลุมรรคผลนิพพานไปตามลำดับ
2.5 เนกขัมมานิสังสกถา อานิสงส์แห่งการออกบวช เมื่อมาถึงการอธิบายขยายความอานิสงส์การออกบวชระดับสูง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ผ่านการฝึกตัวผ่านอนุปุพพิกถามาแล้วตามลำดับ พระเทพญาณมหามุนีจะให้คำสอนที่เป็นข้อคิดเป็นกำลังใจ เพื่อให้พุทธบริษัททั้งหลายเหล่านั้นตั้งใจบวชประพฤติพรหมจรรย์ให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยให้เห็นคุณค่าของชีวิตสมณะหรือชีวิตของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ว่าเป็นชีวิตที่สูงส่ง สามารถทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์เพื่อเกื้อกูลต่อผลแห่งการปฏิบัติธรรม คือทำพระนิพพานให้แจ้งง่ายกว่าชีวิตของการครองเรือน และตอกย้ำให้ตั้งใจปรารภความเพียรเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานสมกับที่ได้จากเรือนออกบวช มาบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ดังโอวาทที่ท่านให้ไว้ว่า
“ ชีวิตนักบวชเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด เป็นชีวิตที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุธรรม เพราะปลอดจากเครื่องกังวลต่างๆ ทางโลก มีเวลาทำความเพียรมาก ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีหมู่คณะที่คิด พูด และทำเหมือนกัน มีเป้าหมายที่จะไปนิพพานเหมือนกัน

การบวชครั้งนี้ เราทิ้งความสะดวกสบาย ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างทางโลก โดยไม่อาลัยอาวรณ์ เพราะหวังจะสลัดออกจากกองทุกข์ เพื่อมุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง . . .การปฏิบัติธรรมเป็นกรณียกิจ คือ กิจที่เราจะต้องทำอย่างแท้จริง เป็นงานที่แท้จริงของเรา เพื่อแสวงหาหนทางพระนิพพาน เราจึงได้สละทิ้งทุกอย่างมาบวช”        

                       (พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) : 28 กรกฎาคม 2542)
พระเทพญาณมหามุนีจะหล่อหลอมให้พระภิกษุรักในการประพฤติปฏิบัติธรรมให้สมกับคำปฏิญาณตนที่ได้กล่าวต่อหน้าพระประธาน พระอุปัชฌาย์ในวันบวชว่า บวชครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง สลัดตนออกจากกองทุกข์เท่านั้น ด้วยการดำรงตนให้อยู่ในพระธรรมวินัย ควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมซึ่งถือว่าเป็นอาชีพของนักบวชทีเดียว อีกทั้งยังให้แนวคิดในการรักษาความเป็นพระที่สมบูรณ์แบบอีกว่า พระภิกษุสงฆ์และสามเณรที่ดีนั้นจะต้องมีสมณสัญญาคือ คิดแบบสมณะ พูดแบบสมณะ และทำแบบสมณะ


กล่าวโดยสรุป ภาพรวมคำสอนอนุปุพพิกถาของพระเทพญาณมหามุนีมี 2 ระดับ คือ
1. อนุปุพพิกถาระดับเริ่มต้นสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ ที่มุ่งสอนให้ผู้นั้นค่อย ๆ เข้าใจถึงความสำคัญของการประพฤติปฏิบัติธรรม ชี้ให้ชาวพุทธเห็นเป้าหมายแห่งการมาเกิดเป็นมนุษย์ มิใช่เพียงเพื่อการทำมาหากินให้ร่ำรวยมีความสุขแค่ในปัจจุบันชาติเท่านั้น แต่ชาวพุทธต้องมองไปถึงเป้าหมายที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เมื่อยังไม่สามารถบรรลุในทันทีก็ต้องคำนึงถึง ภพใหม่ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ทำอย่างไรจึงจะมีสุคติภูมิเป็นที่ไป ไม่พลัดไปสู่ประตูอบาย ด้วยการสอนให้ชาวพุทธหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาให้เต็มที่ เริ่มต้นด้วยการสั่งสมบุญกุศลเพราะเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแห่งความสุขและความสำเร็จ เพื่อให้ชีวิตตนไม่ลำบาก อันเป็นเทคนิคในการสอนเพื่อจูงคนเข้ามาสู่พระธรรมวินัย แล้วจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มความรู้คุณธรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้นโดยชี้ให้เห็นโทษของกามคุณ และวิธีการแก้ไขเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สูงสุด คือ พ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดด้วยการออกบวชบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ซึ่งสามารถค่อย ๆ ฝึกคลายความรักความผูกพันในคน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ ผ่านโครงการเผยแผ่ธรรมะต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการบวชสำหรับท่านชายและหญิง ซึ่งมีให้เลือกทั้งระยะเวลาสั้น ระยะยาวตามที่โอกาสของแต่ละคนจะอำนวย
2. อนุปุพพิกถาระดับเบื้องสูง ที่เป็นบทฝึกสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานในการฝึกตนเองจากขั้นเริ่มต้นแล้ว เป็นคำสอนที่จะให้ผู้ปฏิบัติมุ่งไปที่เป้าหมายแห่งการพ้นจากทุกข์ที่แท้จริง โดยจะต้องเลิกจากสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งปวง เพียรสร้างความดีให้ถึงพร้อมทุกรูปแบบด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันไม่ว่าจะให้ทานก็พร้อมที่เสียสละความสุขส่วนตน โดยไม่หวังผลใด ๆ ตอบแทน พ้นจากความรู้สึกเป็นตัวตนของตนออกไป และไม่ติดในภพใด ๆ ควบคู่ไปกับการฝึกจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส ด้วยการปลดปล่อยวางจากกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์อย่างแท้จริงด้วยการเห็นโทษภัยของกามอย่างแจ่มแจ้ง เพราะเป็นมูลเหตุทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด และให้ตั้งใจบำเพ็ญเนกขัมมบารมีอย่างสะอาดบริสุทธิ์ หมั่นปรารภความเพียรด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกรักในเพศพรหมจรรย์นี้ มีกำลังใจไม่ยิ่งหย่อนในการสร้างความดี บวชเพื่อศึกษาคำสอนของพระบรมศาสนา ทำหน้าที่กัลยาณมิตร ควบคู่ไปกับการฝึกฝนอบรมตนเอง ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่งยวดเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานไปตามลำดับ จนสามารถขจัดกิเลสอาสวะไปสู่พระนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

                                          @Cr. ปภสฺสโร ภิกขุ

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น: